สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองลังกาวี
ลังกาวี (Langkawi)
อยู่ใต้อาณาเขตการปกครองของรัฐเกดะห์ ห่างจากเมืองกัวลาเกดะห์ 51 กิโลเมตร (แต่อยู่ใกล้รัฐปะลิสมากกว่า เพราะอยู่ห่างจากเมืองกัวลาปะลิสเพียง 30 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งชายหาดที่งดงาม น้ำตกกลางผืนป่า สถานบันเทิงสมัยใหม่ และเกาะน้อยใหญ่รายรอบถึง 104 เกาะ
วิธีเดินทางสู่เกาะลังกาวีที่สะดวกคือ ทางเรือ ทั้งนั่งจากท่าเรือตำมะลัง จังหวัดสตูล ท่าเรือเมืองกัวลาเกดะห์ ท่าเรือเมืองกัวลาปะลิส และท่าเรือปีนัง เรือโดยสารจะพาคุณไปส่งยังท่าเรือเมืองกัวห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและโรงแรม หากคุณชอบความสะดวกสบายของชีวิตในเมือง คุณสามารถเลือกพักที่นี่เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆบนเกาะ ช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมและสินค้าพื้นเมือง โดยเฉพาะช็อกโกแลตที่มีจำหน่ายมากมาย แถมราคาประหยัด
คำว่า ลังกาวี หมายถึง นกอินทรีสีน้ำตาลแดง ซึ่งเคยโผบินอยู่จำนวนมากบนท้องฟ้าเหนือทะเลรอบเกาะ ดังนั้น สิ่งที่โดดเด่นจนเป็นแลนด์มาร์คของเกาะคือ ดาตารันลัง (Dataran Lang) หรือจัตุรัสนกอินทรี ซึ่งเมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่เมืองกัวห์ คุณจะได้เห็นประติมากรรมนกอินทรีสีน้ำตาลขนาดยักษ์ยืนกางปีกกว้างต้อนรับผู้มาเยือน และหากคุณย้อนกลับมาเยือนจัตุรัสนกอินทรีอีกครั้งในเวลาค่ำคืนคุณจะได้พบกับนกอินทรียักษ์ตัวเดิมซึ่งอาบไล้ด้วยแสงไฟอย่างงดงาม
เนื่องจากบนเกาะลังกาวีไม่มีรถโดยสารสาธารณะหรือรถประจำทาง การเที่ยวชมสถานที่แต่ละแห่งจึงมีทางเลือกเพียง 2 วิธี คือ เช่ารถขับเอง วันละ 100 RM ซึ่งผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่สากล หรือเหมาแท็กซี่ ในราคา 4 ชั่วโมงแรก 100 RM ชั่วโมงต่อไปชั่วโมงละ 25 RM
หาดซีนัง (Cenang Beach)
เป็นชายหาดที่งดงามและได้รับความนิยมมากที่สุดบนเกาะลังกาวี ตลอดแนวชายหาดจึงเรียงรายด้วยโรงแรม บังกะโล และรีสอร์ตสวยๆหลายแห่ง และยังเป็นที่ตั้งลามันปาดี
ลามันปาดี (Laman Padi)
ศูนย์จัดแสดงวิวัฒนาการการปลูกข้าว โดยผู้มาเยือนจะได้ตื่นตากับทุ่งข้าวเขียวขจีที่อยู่ใกล้กับท้องทะเลที่คลื่นกำลังสาดซัด อีกทั้งภายในศูนย์ยังมีภัตตาคารอาหารมาเลย์อร่อยๆให้ได้ลิ้มลอง
พิพิธภัณฑ์โลกใต้ทะเล
อีกสถานที่หนึ่งซึ่งอยู่ต้นชายหาดซีนัง เป็นสถานที่จัดแสดงสัตว์ทะเลกว่าห้าพันชนิด ภายในตู้จัดแสดงกว่าร้อยตู้ สิ่งที่โดดเด่นคืออุโมงค์ใต้น้ำที่มีความยาวถึง 15 เมตร คุณจะได้เห็นฝูงปลาแหวกว่ายเหนือศีรษะดุจดังฝูงนกที่บินอยู่บนฟากฟ้า นอกจากนี้ยังมีนกเพนกวินให้ได้ชมทั้งพันธุ์แบล็กฟุต (Blackfooted Penguin) หรือแอฟริกันเพนกวิน (African Penguin) และพันธุ์ร็อคฮอปเปอร์ (Rockhopper Penguin) หรือนกเพนกวินพันธุ์ที่มีคิ้ว
แหลมตันจุงรูห์ (Tanjung Rhu)
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดเกาะ เรียงรายไปด้วยต้นสนทะเลตามแนวชายหาดที่ทอดยาว คลื่นลมสงบ มีเกาะเล็กๆอยู่ไม่ไกล ช่วงเวลาน้ำลงจะเกิดสันทรายทอดจากชายฝั่งไปยังเกาะนั้นๆ และไม่ไกลกันยังมีอีกหนึ่งชายหาดที่แปลกกว่าหาดทั่วไป นั่นคือ Pantal Pasir Hitam หรือ Black Sand Beach หรือที่คนไทยเรียกว่า หาดทรายดำ เนื่องจากชายหาดมีสีดำอันเกิดจากแร่ธาตุนานาชนิดที่ปะปนอยู่ในทรายเม็ดละเอียด
น้ำตกเทอลากาทูจุห์ (Telaga Tujuh Waterfall)
ชื่อน้ำตกแปลว่า 7 บ่อ ต้นธารที่ไหลผ่านหน้าผาหินแกรนิตที่สูงชันนั้นเกิดจากบ่อน้ำ 7 บ่อ ที่ซุกตัวอยู่ในผืนป่า
น้ำตกทุเรียน (Durian Perangin Waterfall)
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ สายน้ำไหลลดหลั่นลงเป็นชั้นๆที่วังน้ำแต่ละชั้นลงเล่นน้ำได้
หมู่บ้านออเรียนทัล (Oriental Village)
หากคุณอยากชมขุนเขา ผืนป่า และผืนทะเลของเกาะลังกาวีจากมุมสูงในมุมมองแบบ 360 องศา ต้องไปที่หมู่บ้านออเรียนทัล ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งช็อปปิ้ง ร้านอาหาร ลานแสดงวัฒนธรรม ท่ามกลางสวนสวย และหมู่บ้านที่แลดูแปลกตาแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานีลังกาวีเคเบิลคาร์ ซึ่งจะพาคุณไต่ระดับความสูงขึ้นไปสัมผัสเกาะลังกาวีในมุมมองแบบ birds eye view บนยอดเขาแมชินซาง (Machincang) ที่ความสูง 708 เมตร เหนือระดับทะเล สามารถมองไกลถึงฝั่งรัฐเกดะห์และภาคใต้ของไทยด้วย
สุสานพระนางมัสสุหรี (Makam Mahsuri) หรือสุสานพระนางเลือดขาว
ตั้งอยู่ใจกลางเกาะ เป็นสุสานฝังศพของพระนางมัสสุหรี หญิงสาวผู้ถูกกล่าวหาว่านอกใจสามี กระทั่งถูกประหารชีวิตด้วยกริชเมื่อราวสองร้อยปีก่อน ก่อนตายเธอได้สาปแช่งว่า หากเธอมิได้กระทพความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ขอให้เลือดของเธอเป็นสีขาว และเกาะลังกาวีจะต้องตกอยู่ใต้คำสาปแช่ง ไม่เจริญเป็นเวลาเจ็ดชั่วคน ซึ่งตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเลือดของเธอมีสีขาวดังคำสาป ทำให้ผู้คนรุ่นหลังเรียกขานเธอว่า พระนางเลือดขาว
สถานที่แห่งนี้มิได้เป็นเพียงแค่สุสาน แต่เป็นที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวมาเลเซียด้วย มีการจัดแสดงเรือนไม้ศิลปะมาเลย์ซึ่งจำลองขึ้นตามแบบเรือนของพระนางมัสสุหรีเมื่อสองร้อยปีก่อนไว้อย่างงดงาม นอกจากนี้ ที่สวนร่มรื่นภายในสุสานยังมีการแสดงนาฏศิลป์
แกลเลอเรียเปอร์ดานา (Galeria Perdana)
พิพิธภัณฑ์แสดงของที่ระลึกจากทั่วโลก ซึ่งของที่ระลึกเหล่านี้ได้มาจากผู้นำประเทศต่างๆที่มอบแด่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นอกจากบรรดาของที่ระลึกหลากหลายกว่า 7,000 ชิ้นแล้ว อาคารพิพิธภัณฑ์เองก็สร้างขึ้นอย่างงดงามตระการตาด้วย
ลังกาวีคราฟต์คอมเพล็กซ์
จัดแสดงสารพัดงานหัตถกรรมพร้อมการสาธิต ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ ผ้าบาติก ชุดประจำชาติ เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา และรวมถึงขนมพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นขนมลา หรือ Kuih Peneram ขนมหน้าตาคล้ายโดนัท แต่ชาวเลย์บอกว่าเป็นคุกกี้แบบมาเลย์
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
ปีนัง (Penang)
แต่เดิม ปีนัง หรือที่ชาวไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนคุ้นเคยในชื่อ เกาะหมาก เป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรี ซึ่งรัฐบาลไทยถือว่าเป็นหัวเมืองมลายูที่ขึ้นต่อสยามประเทศ แต่ภายหลังเมื่อการล่าเมืองขึ้นขยายตัวมายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ไทยจึงต้องเสียดินแดนทางภาคใต้แก่อังกฤษ อันประกอบด้วย 4 เมือง คือ ปะลิส กลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี (หรือรัฐเกดะห์ในปัจจุบัน)
อังกฤษเข้าครอบครองปีนังเนื่องจากรัฐบาลอังกฤษมีนโยบายขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ในปี พ.ศ.2329 ชาวอังกฤษนามว่าฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก เล็งเห็นความโดดเด่นเพื่อพัฒนาเมืองเป็นท่าเรือจึงเจรจากับสุลต่านแห่งรัฐเกดะห์เพื่อขอเกาะปีนังโดยแลกกับการคุ้มครองด้วยกองกำลังทหารอังกฤษเพื่อแยกรัฐเกดะห์ (หรือไทรบุรี) จากการปกครองของสยามประเทศ นั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเสียดินแดนของไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาสตร์แห่งรัฐปีนัง
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของรัฐปีนัง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ เกาะปีนังซึ่งเป็นท่าเรือ กับฝั่งบัตเตอร์เวิร์ทบนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมและศูนย์กลางการคมนาคมของรัฐ สามารถเดินทางระหว่างเกาะปีนังกับบัตเตอร์เวิร์ท โดยใช้บริการเรือข้ามฟากในระยะทางเพียง 3 กิโลเมตร หรือเดินทางโดยรถยนต์โดยใช้สะพานปีนัง สะพานที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวถึง 13.5 กิโลเมตร
จอร์จทาวน์ (Georgetown)
เมืองแรกของเกาะปีนังที่ได้รับการพัฒนาเป็นท่าเรือและเป็นชุมชนที่มีสิ่งก่อสร้างในยุคอาณานิคมมากมาย คือเมืองจอร์จทาวน์ ซึ่งตั้งชื่อเมืองตามพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษ ภายในมีสถานที่ประวัติศาสตร์และศาสนสถานที่สำคัญหลายแห่ง วิธีการเที่ยวชมที่เหมาะที่สุดคือการเดินชมอย่างช้าๆ แล้วหยุดพักตามจุดต่างๆเพื่อซึมซับเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ และหยุดแวะลิ้มลองอาหารจีนอร่อยๆเมื่อหิว
ป้อมฟอร์ตคอร์นวอลลิส (Port Cornwallis)
สถานที่แห่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปีนัง เพราะเป็นสถานที่ที่ฟรานซิส ไลต์ ยกพลขึ้นบก และพัฒนาปีนังจนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญในเวลาต่อมา นอกจากปืนใหญ่หลายกระบอกที่หันไปยังท้องทะเลเบื้องหน้าแล้ว ป้อมปราการอันแข็งแกร่งที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2347 หรือกว่าสองร้อยปีมาแล้วแห่งนี้ ยังคงสภาพเหมือนครั้งอดีต อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่แต่งชุดกะลาสีเรือย้อนยุค จนเหมือนหลุดเข้าสู่ยุคโบราณ
Town Hall & City Hall
ตามเส้นทางเลียบชายทะเล อีกฟากหนึ่งเป็นที่ตั้งของสองสถานที่สำคัญอันเป็นจุดศูนย์กลางการปกครองในปีนัง นั่นคือ Town Hall กับ City Hall ซึ่งสร้างขึ้นสมัยที่ปีนังยังอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2423 จึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบบริติชเอ็มไพร์ (British Empire) โดยเฉพาะ City Hall นั้นโดดเด่นด้วยเสาอาคารแบบกรีกอันงดงาม พร้อมด้วยซุ้มหน้าต่างขนาดใหญ่โดยรอบ
จากนี้ เราจะเดินทวนเข็มนาฬิกาเพื่อหมุนเวลาแห่งอดีตให้หวนคืนกลับ โดยเดินไปตามถนนมัสยิดกัปปิตันเคอลิง (Masjid Kapitan Keling) แล้ววนกลับมายังถนนเปงกลัยเวลด์ หรือเวลด์คีย์ (Pengkalan Weld หรือ Weld Quay) ซึ่งจะไปสุดทางที่ป้อมฟอร์ตคอร์นวอลลิส
สถานที่แรกของเส้นทางทวนเข็มนาฬิกานี้คือ โบสถ์เซนต์จอร์จ (St. Georges Church) เป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในปีนัง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2361 เพื่อระลึกถึงเซอร์ฟรานซิส ไลต์ เป็นอาคารสไตล์โรมัน ด้านหน้ายอดแหลม
พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ปีนัง
อาคารสไตล์โรมันสองชั้นขนาดใหญ่ ภายในจัดแสดงทั้งภาพวาด ภาพถ่ายและจำลองวิถีชีวิตของชาวเมืองปีนังในอดีต ใกล้ๆกันยังมีโบสถ์อัสสัมชัญโบสถ์คริสต์หลังงามให้ได้ชม
คฤหาสน์เฉิงฟัตเจ๋อ (Cheong Fatt Tze Mansion)
เป็นคฤหาสน์หลังงามของคหบดีชาวจีนฮากกา นาม เฉิงฟัตเจ๋อ ซึ่งมีความเก่าแก่ร่วมร้อยปี คฤหาสน์ทาสีฟ้าสดใสจนได้รับฉายาว่า Blue Mansion ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และสมบัติอันล้ำค่าประดับประดาอยู่ตามห้องต่างๆอย่างดงาม
วัดเจ้าแม่กวนอิม (Goddess of Mercy Temple)
วัดจีนขนาดใหญ่ งดงามด้วยหลังคากระเบื้องเคลือบลวดลายงดงาม ทั้งมังกร ดอกไม้สวรรค์และเหล่าทวยเทพ ทุกวันจะมีชาวมาเลย์เชื้อสายจีนจำนวนมากมานมัสการเจ้าแม่กวนอิมองค์สีทองที่ประดิษฐานอยู่ภายใน บริเวณนี้นอกจากเป็นย่านคนจีนแล้ว ฝั่งตรงข้ามยังเป็นย่านชาวอินเดีย (Little India) โดยมีวัดศรีมหามาเรียมมัน (Sri Mahamariamman Temple) ศาสนสถานในศาสนาฮินดูเป็นจุดศูนย์กลางด้วย ย่านนี้จึงมากไปด้วยสีสันของดอกไม้ เปลวเทียน และควันธูป
มัสยิดกัปปิตันเคอลิง (Kapitan Keling Mosque)
สร้างขึ้นโดยกัปตันเคอลิง พ่อค้าชาวอินเดีย (ชาวมาเลย์ออกเสียงคำว่า กัปตัน : Captain เป็นกัปปิตัน : Kapitan) โดยสร้างด้วยศิลปะแบบมัวร์ซึ่งโดดเด่นด้วยโดมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของมัสยิด
ปีนังฮิลล์ (Penang Hill)
นอกจากย่านจอร์จทาวน์ซึ่งเป็นเหมือนสมุดบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของปีนังที่ผู้มาเยือนไม่ควรพลาดแล้ว ปีนังฮิลล์คืออีกสถานที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเกาะแห่งนี้
การไปเยือนปีนังฮิลล์มีจุดเด่นอยู่ 2 อย่าง คือ การขึ้นรถรางที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2465 ไปยังยอดเขา กับการสูดอากาศบริสุทธิ์พร้อมชมทิวทัศน์ของเกาะปีนังแบบพานอรามาบนความสูงถึง 830 เมตรจากระดับทะเล อีกทั้งยังสามารถมองไปไกลถึงสะพานปีนังที่ทอดยาวข้ามทะเลไปยังฝั่งบัตเตอร์เวิร์ท
วัดศรีรุทราวีรามุทูมหามาเรียมมัน
เป็นวัดในศาสนาฮินดู ซึ่งงดงามด้วยรูปปั้นเหล่าทวยเทพสีสันสดใสและลวดลายแกะสลักต่างๆอย่างละเอียด
วัดเค็กลกซี (Kek Lok Si) เป็นวัดจีนในพุทธศาสนานิกายมหายาน ตั้งอยู่บนเขาไอเยอร์อิตาม (Air Itam) โดยมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ใช้เวลาสร้างนานถึง 20 ปี ซึ่งนอกจากศาสนสถานหลายหลังที่สร้างขึ้นจนเต็มพื้นที่วัดแล้ว สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือเจดีย์สีทองทรงแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา อีกทั้งโดยรอบองค์เจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักมากถึง 10,000 องค์
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
ข้อมูล : Go มาเลเซีย : แพรวสำนักพิมพ์ท่องโลก : วีรศักดิ์ เทียนธนะวัฒน์