
ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|
ข้อมูลทั่วไป
วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล เดิมเรียกชื่อถ้ำผลึกแคลไซต์แม่ลาน้อย ตั้งอยู่บริเวณเขาดอยถ้ำ หมู่ที่ 14 บ้านห้วยมะไฟ ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี. วี ซัพพรายส์ (ไทยแลนด์) อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย แผนที่ระวาง มาตราส่วน 1 : 50,000 ชุด L 7071 ระวาง 4545 3 พิกัด 391620341
ถ้ำแก้วโกมล ได้ถูกค้นพบโดยวิศวกรเหมืองแร่ ประจำสำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 สภาพภายในถ้ำเต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์ (Calcite) รอบด้านทั้งบริเวณผนัง พื้น และเพดานของถ้ำ ผลึกมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันมากมายหลายแบบจับตัวกันมองดูคล้ายปะการัง ดอกกระหล่ำ เกล็ดน้ำแข็ง ดอกเข็ม และโคมไฟเพดาน มีสีขาวใส เหลือง แดง และน้ำตาล มีความสวยงามมากตามธรรมชาติ มีคุณค่าและความสำคัญ ต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย
ในปี พ.ศ.2538 กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการพัฒนาด้านความสะดวกและความปลอดภัยในการเข้าเที่ยวชมถ้ำ ได้ดำเนินการกันเขตพื้นที่บริเวณรอบถ้ำในเขตรัศมี 200 เมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 51 ไร่ 1 งาน 04 ตารางวา ออกจากพื้นที่ประทานบัตร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ตรี แห่ง พ.ร.บ เหมืองแร่ พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ให้พื้นที่กลับไปมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้ โดยจัดตั้งเป็นวนอุทยานแม่ลาน้อย ตามความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
ในปี พ.ศ.2543 ได้มีการส่งมอบและรับมอบถ้ำผลึกแคลไซต์แม่ลาน้อยระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กับกรมป่าไม้โดยผู้ว่าราชการจังแม่ฮ่องสอน เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 ณ วนอุทยานถ้ำแม่ลาน้อย
ลักษณะเด่นของถ้ำแก้วโกมล คือเป็นโพรงลึกลงไปในแนวดิ่งถึง 30 เมตร มีทางเดินและทางออกทางเดียวประมาณ 120 เมตร กล่าวกันว่าถ้ำแก้วโกมลแห่งนี้เป็นถ้ำผลึกแคลไซด์ที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย และพบเป็นแหล่งที่ 2 ในทวีปเอเชีย โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศจีน
การเกิดผลึกแคลไซด์ หรือ แคลเซียมคาร์บอเนต เกิดจากกระบวนการกลั่นตัวตกผลึก (Crystallizaton) ของไอน้ำร้อนที่ละลายสารแคลเซียมในถ้ำจนอิ่มตัวแล้วเกิดเป็นผลึกจับตามผนัง ถ้ำ ชื่อว่าถ้ำแก้วโกมลเดิมเป็นทางน้ำร้อนใต้ดิน เมื่อกระแสน้ำร้อนละลายสารแคลเซียมที่ฟุ้งกระจายอยู่ในโพรงถ้ำภายใต้อุณภูมิ ที่เหมาะสมจึงเกิดเป้นผลึกแร่บริสุทธ์และอ่อนนุ่มราวหิมะ ซึ่งพบเห็นได้ยากมาก ภายในถ้ำแก้วแบ่งออกเป็นโถงถ้ำทั้งหมด 5 ห้อง เมื่อผ่านทางเข้าปากถ้ำ คุณสามารถเดินชมถ้ำแก้วไปตามทางเดินที่เชื่อมถึงกันตลอด โถงถ้ำที่น่าสนใจได้แก่ห้องที่ 4 ซึ่งมีผลึกแคลไซด์ บริสุทธิ์ที่มีรูปร่างคล้ายปะการัง ผลึกรูปเข็มและเกร็ดน้ำแข็ง และห้องที่ 5 ซึ่งเป็นห้องที่อูยู่ลึกที่สุดมีความสวยงามมากที่สุด มีผลึกแคลไซด์ที่สมบูรณ์มากตามพื้นและผนัง ทั้งผลึกรูปเข็มและผลึกรูปปะการังสีขาว อย่างไรก็ดี เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง คุณจึงควรระวังไม่ให้ชนกับผลึกแคลไซด์ภายในถ้ำขณะเดินชม เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 สมเด็จพระนางจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ถ้ำแม่ลาน้อย และได้พระราชทานนามถ้ำแม่ลาน้อยเป็นชื่อ ถ้ำแก้วโกมล และได้พระราชทานนามชื่อห้องในถ้ำแก้วโกมลซึ่งอยู่ภายในถ้ำเป็นชั้นๆจำนวน 5 ชั้นดังนี้
ชั้นที่หนึ่ง นามห้อง พระทัยธาร
ชั้นที่สอง นามห้อง วิมานเมฆ
ชั้นที่สาม นามห้อง เฉกหิมพานต์
ชั้นที่สี่ นามห้อง ม่านผาแก้ว
ชั้นที่ห้า นามห้อง เพริดแพร้วมณีบุปผา
ช่วงเวลาในการเที่ยวชม ถ้ำแห่งนี้สามารถเที่ยวได้ตลอดปี แต่ช่วงที่ดีที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน เพราะเป็นช่วงที่น้ำในถ้ำแห้งสนิท ไม่เปียกชื้น รวมถึงไม่มีหยดน้ำจากเพดานถ้ำให้รำคาญ และเนื่องจากถ้ำแก้วเป็นโพรงถ้ำที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก นักท่องเที่ยวที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวจึงไม่ควรเข้าไปในถ้ำ หรือหากต้องการเข้าไปชมภายในถ้ำควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่พาชมก่อนเพื่อความปลอดภัย
ปัจจุบันวนอุทยานแม่ลาน้อยได้เปลี่ยนชื่อเป็น วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงและอยู่ในความดูแลของสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ลักษณะภูมิประเทศ
ถ้ำผลึกแคลไซต์อยู่บนไหล่เขาสูงประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปากถ้ำเป็นปากอุโมงค์ซึ่งหยุดผลิตแร่ฟลูออไรต์ พบแหล่งน้ำพุร้อนในลำห้วยแม่ฮุ ซึ่งห่างจากปากถ้ำประมาณ 800 เมตร ปัจจุบันแหล่งน้ำพุร้อนดังกล่าวถูกน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างฝายแม่ฮุ
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
พบป่า 2 ชนิดคือ ป่าเบญจพรรณและป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณประกอบด้วยไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก แดง ประดู่ เต็ง รัง เป็นต้น ไม่พบสัตว์ป่าอาศัยอยู่
บ้านพัก-บริการ
วนอุทยานแก้วโกมล ไม่มีบ้านพักไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาตกับหัวหน้าวนอุทยานแก้วโกมลโดยตรง
หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-25614292-3 ต่อ 719 ในวันและเวลาราชการ
แหล่งท่องเที่ยว
วนอุทยานแก้วโกมลมีจุดเด่นคือ ถ้ำ สภาพภายในถ้ำเต็มไปด้วยผลึกแร่แคลไซต์รอบด้านทั้งฝาผนังพื้นและเพดานถ้ำมี รูปร่างหน้าตาแตกต่างกันมากมายทั้งแบบ Prismatic,Form,Rhombohedron และScalenohedron จับตัวกันมองดูคล้ายปะการัง ดอกกะหล่ำ เทียนไขและโคมไฟเพดาน มีสีขาว ใส เหลือง แดง และน้ำตาล แบ่งเป็นห้องๆ จากการตรวจสอบภายในถ้ำแบ่งออกเป็น 5 ห้องซึ่งห้องที่ 5 อยู่ด้านในสุดเป็นห้องที่มีความสวยงามมากที่สุดเนื่องจากผลึกแคลไซต์มีความ สมบูรณ์จำนวนมากมีการงอกของผลึกเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
การเดินทาง
รถยนต์ เดินทางโดยรถยนต์ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน หลักกิโลเมตรที่ 132 บริเวณอำเภอแม่ลาน้อย ใช้เส้นทางสายบ้านทุ่งสารภีไปบ้านห้วยมะไฟ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงวนอุทยานแก้วโกมล
สถานที่ติดต่อ วนอุทยานแก้วโกมล
ต.แม่ลาน้อย อ. แม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน 58120
โทรศัพท์ 0 5361 2078 โทรสาร 0 5361 2594 อีเมล reserve@dnp.go.th การเดินทาง รถยนต์
เดิน ทางโดยรถยนต์ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน หลักกิโลเมตรที่ 132 บริเวณอำเภอแม่ลาน้อย ใช้เส้นทางสายบ้านทุ่งสารภีไปบ้านห้วยมะไฟ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงวนอุทยานแก้วโกมล

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|

ถ้ำแก้วโกมล
|
|
|