การเดินทางช่วงเช้า
- นำท่านเดินทางสู่เมืองราชคฤห์ มหานครแห่งแคว้นมคธ จากนั้นนำท่านเดินขึ้น เขาคิชกูฏ ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามระหว่างเดินขึ้นไป ชม มูลคันธกุฏี สถานที่สำคัญสุดที่ชาวพุทธเมื่อขึ้นเขาคิชกูฏต้องทำคือการไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ ณ มูลคันธกุฏี สถานที่ที่เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ชม ถ้ำสุกรขาตา สถานที่ที่พระสารีบุตรบรรุเป็นพระอรหันต์ นมัสการ ถ้ำพระโมคคัลลานะ กุฏีของพระอานนท์ นำท่านชม วัดชีวกัมพวันหรือวัดสวนมะม่วงโรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรกของโลก และชมเรือนคุมขังพระเจ้าพิมพิสาร จากนั้นนำท่านเดินทางสู่ วัดเวฬุวนารามมหาสังฆยิกาวาส วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาเดิมเป็นสวนไม้ไผ่ของพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ถวายเป็นอารามแด่พระพุทธเจ้าและเป็นสถานที่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอริยสงฆ์ 1250 องค์ ในวันมาฆบูชา มีสถูปที่บรรจุพระอัฐิธาตุของพระโมคคัลลานะและพระอัญญาโกญฑัญญะ และเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประทับในพรรษาที่ 2 4
- เขาคิชกูฎ เป็นหนึ่งในเบญจคีรี มีลักษณะเหมือนนกแร้ง หรือเป็นที่อาศัยของฝูงแร้ง ที่มาคอยกินซากศพโจรที่ถูกประหารด้วยการทิ้งลงเหว ด้านบนมี ถ้ำสุกรขาตา หรือ สุกรขาตเสนะ อยู่ก่อนถึงมูลคันกุฎี ซึ่งบางท่านเรียกว่า พุทธวิหารคิชกูฏ เป็นลานหินที่ส่วนบนมีหินก้อนใหญ่ชะโงกออกมา และเป็นโพรงลึกเข้าไปพอจะหลบลม หลบฝนได้ ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัด ระลึกตามกระแสธรรมด้วยปัญญายิ่ง เมื่อจบการเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อวันมาฆปุรณมี เพ็ญเดือน 3 ณ ถ้ำสุกรขาตา หลังจากอุปสมบทได้ 15 วัน เมื่อเราเดินทางขึ้นไปบนเขาคิชกูฏ จุดนี้เป็นจุดที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง เพื่อระลึกถึงอริยสงฆ์ยอดกตัญญู พระสารีบุตร
มูลคันธกุฎี บนขอดเขาคิชกูฏ เป็นสถานที่สำคัญเพื่อการระลึกถึงพระพุทธองค์ กว้างประมาณ 3 ศอก ยาว 4 ศอก ซึ่งแคบมาก ผู้ที่มาถึงที่นี่ได้เปรียบเสมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ดวงจิตจะมีแต่ความเบิกบาน และก่อนถึงมูลคันธกุฎีจะพบกับ ซากอิฐก่อฐานสี่เหลี่ยมติดหน้าผา เชื่อกันว่าเป็นที่พักของพระอานนท์ ยอดอุปัฏฐาก เป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า ได้ตามเสด็จไปทุกหนแห่ง ประดุจเป็นเงาตามตัว และได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเลิศทางพหูสตูร ที่ทรงจำพระธรรมวินัย 84,000 พระธรรมขันธ์ไว้ได้หมด
- วัดเวฬุวัน เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เดิมเป็นสวนไผ่ของพระเจ้าพิมพิสาร จากนั้นได้ถวายเพื่อเป็นอารามแด่พระพุทธเจ้าและสาวก พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ในพรรษาที่ 2-4 และได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปาให้อัครสาวกทั้งสองคือ พระโมคคัลาน์กับ พระสารีบุตร เป็นที่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอริยสาวก 1,250 องค์ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายในวันจาตุรงคสันนิบาต วันเพ็ญเดือน 3 หรือคือวันมาฆบูชานั่นเอง บริเวณโดยรอบด้านทางประตูทางเหนือนั้นมี ซากสถูปอยู่สองแห่ง คือ สถูปที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของพระโมคคัลลานะและพระอัญญาโกณฑัญญะ
วัดเวฬุวัน หรือวัดป่าไผ่นี้ อยู่ทิศเหนือของแม่น้ำสรัสวดี มีตโปธาร สายน้ำร้อนคั่นกลาง รอบวัดถนนตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีศาลาทรงไทยที่สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของพุทธบริษัทชาวไทยเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยมีหลวงพ่อเจ้าพระคุณพระสุเมธาธิบดี เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังหลังพระพุทธรูป ตอนพระพุทธเจ้ารับสวนเวฬุวันจากพระเจ้าพิมพิสาร และมีพระพุทธปฏิมากร ศิลปกรรมไทยตั้งไว้เป็นที่สักการะ
ด้านเหนือสระใหญ่ มีพระพุทธรูปที่ชาวพุทธญี่ปุ่นสายมหายานสร้างไว้ เชื่อกันว่าพระพุทธองค์ได้แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ส่วนไม้ไผ่ตะวันตกมีลานกว้างพอนั่งได้ 50 คน ชาวพุทธสายเถรวาทนิยมมาประกอบการบูชา ไหว้พระ สวดมนต์ เวียนเทียนกันที่นี่
- ถ้ำพระโมคคัลลานะ เป็นที่พักเพื่อสนองงานพระพุทธองค์ขณะประทับที่พุทธวิหารยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นก้อนหินใหญ่ด้านบนมีก้อนหินเล็กใหญ่วางระเกะระกะอยู่มากมาย จะมีผู้คนโยนหินขึ้นไปแล้วอธิษฐานว่าขออย่าให้มีชีวิตที่ตกต่ำเลย จุดตรงที่เป็นถ้ำนั้นมีก้อนหินตั้งขึ้นเรียงกันสามก้อน มีช่องว่างพอเดินได้ เมื่อก่อนยังไม่ก่อหินกั้นไว้ เป็นทางขึ้นลงเพียงที่เดียว จุดนี้เองที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นจุดที่พระเทวทัตใช้ความพยายามกลิ้งก้อนหินลงมาเพื่อประหารพระพุทธองค์
|
|
|
|
|
เขาคิชกูฏ |
เขาคิชกูฏ |
เขาคิชกูฏ |
|
|
|
|
|
เขาคิชกูฏ |
เขาคิชกูฏ |
เขาคิชกูฏ |
|
คลิปวีดีโอ เขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์ |
|
มูลคันธกุฏี ของพระพุทธเจ้า เขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์ |
|
เส้นทางการเดินขึ้นเขาคิชกูฏ ค่อนข้างสะดวกสบาย เมืองราชคฤห์ |
การเดินทางช่วงบ่าย
- นำท่านเดินทางสู่ เมืองนาลันทา ชม มหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเดิมเป็นสวนมะม่างของทุสสปาวริกเศรษฐีได้อุทิศถวายแก่พระพุทธเจ้าในยุคหลังที่กษัตริย์อินเดียราชวงศ์คุปตะทรงเข้ารับอุปถัมภ์ ชมสถูปปรินิพพานของพระสารีบุตร นำท่านสักการะหลวงพ่อองค์ดำที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองนาลันทา ชมตโปทารามนที สถานที่อาบน้ำของชาวฮินดูที่แบ่งชนชั้น กษัตริย์ พราหมร์ แพศท์ ศูทย์
- นาลันทา นาลัน แปลว่า ดอกบัว ส่วน ทา แปลว่า ให้ รวมกันมีความหมายว่า ผู้ให้ดอกบัว ตามตำนานเล่าว่าเมืองนี้มีดอกบัวมาก ยามเช้าดอกบัวย่อมบานได้ด้วยแสงอาทิตย์ ชาวพื้นเมืองเชื่อว่า ดอกบัวเป็นเทพบัลลังก์สถิตแห่งหนึ่งของพระสุริยเทพ และมีผู้นับถือนาคหรืองูวิเศษ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า นาลันทานั้นเรียกตามสถานที่ซึ่งเป็นที่ของพระยานาคผู้มีฤทธิ์อาศัยอยู่ในสระบัวโบราณในเมืองนาลันทานั่นเอง
- สถูปนิพพานพระสารีบุตร พระสารีบุตรนั้นนิพพานในเรือนอันเป็นที่กำเนิด ณ ที่นาลันทกะ บ้านของ นางสารีพราหมณี ผู้เป็นมารดา ในตอนเช้าของวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประมาณ เดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน สาเหตุที่ท่านกลับมานิพพานที่นี่เนื่องจากท่านได้ระลึกถึงคุณมารดา ในขณะที่พระธรรมเสนาบดี ผู้เป็นอัครสาวกเบื้อขวาพระบรมศาสดาได้เที่ยวจาริกสั่งสอนผู้คนให้ดวงตาเห็นธรรม หลุดพ้นวิบากกรรม แต่นางสารีพราหมณี ยังมิได้รับอมฤตธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ และพระสารีบุตรกำลังจะนิพพาน ท่านจึงไปกวาดหน้าพระวิหารที่เชตะวัน หน้ากุฏิพระพุทธองค์แล้วกราบทูลลาเป็นครั้งสุดท้าย บรรดาผู้คนทั้งหลายที่เคยฟังเทศนาของพระสารีบุตรต่างอาลัยร่ำไห้ พระภิกษุที่เป็นศิษย์ 500 องค์ต่างเดินตามมาส่งถึงบ้าน นางสารีพราหมณีนึกว่าลูกชายเบื่อหน่ายในพรหมจรรย์ อยากลาสิกขามาครองเรือน จึงดูแลอย่างดี พอตกกลางคืนโรคกำเริบ โยมมารดาดูแลพยาบาล จนพระสารีบุตรมีกำลังแสดงธรรมเทศนาโปรดแม่เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อจบพระธรรมเทศนาผู้เป็นมารดาก็บรรลุโสดาปัตติผล สมเจตนาของพระอรหันต์ ผู้เลิศด้วยความกตัญญูในวันนั้น
- พิพิธภัณฑ์นาลันทา เป็นสถานที่แสดงวัตถุโบราณกลางแจ้ง มี 4 หมวด คือ หมวดจารึก หมวดปฏิมา หมวดเครื่องแต่งกาย และหมวดเครื่องปั้น เป็นสถานที่เก็บโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้จากบริเวณสิ่งปลูกสร้างของนาลันทาเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขนาดเล็ก ภายในมีวัตถุโบราณอายุพันๆปี มีพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เทวดามหายาน เทวรูป ทั้งสายศาสนาพราหมณ์และเชน พร้อมด้วยเครื่องปั้น โอ่ง ไห แจกัน ถ้วยชาม
|
หลวงพ่อองค์ดำ เมืองนาลันทา |
|
คลิปวีดีโอ หลวงพ่อองค์ดำ เมืองนาลันทา |
รูปและคลิปวีดีโอ โดย www.TripDeeDee.com
ข้อมูลจาก
- หนังสือ สู่แดนพุทธองค์ อินเดีย เนปาล(ฉบับนักเดินทาง) โดยพระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทโธ)
- หนังสือนิตยสาร Check Tour
- หนังสือนิตยสาร เที่ยวรอบโลก
- เว็บ wikipidia
|
|