รหัสโทรศัพท์ 31
ประวัติของแขวงจำปาสักสืบสาวได้ถึงสมัยอาณาจักรฟูนันและเจนละ ปรากฏชื่อในพงศาวดารเขมรว่า สะมะปุระ เมื่ออาณาจักรฟูนันเสื่อมอำนาจ คนลาวย้ายถิ่นฐานเข้ามาสร้างบ้านเรือนกลายเป็นเมืองใหม่นามว่า จำปานะคะบุลีสีหรือจำปานคร ถึงรัชสมัยเจ้าฟ้างุ่มได้ทรงรวบรวมเมืองต่างๆ ของลาวเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันให้ชื่อว่าล้านช้าง มีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่เวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างเจริญมาได้ 200 ปีเศษก็เริ่มอ่อนแอ แตกออกเป็น 3 ฝ่ายคืออาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาสัก แผ่นดินไทยช่วงนั้นอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี เพราะระแวงว่าลาวจะร่วมมือกับพม่าตีขนาบไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ยกทัพไปตี ลาวทั้งสามอาณาจักรตกเป็นของไทยนาน 114 ปี จนถึง พ.ศ. 2436 ไทยต้องยกลาวให้ฝรั่งเศส แต่ครั้นปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสอ่อนแอ ญี่ปุ่นก็เข้ามาปกครองแทน สิ้นสงครามโลกญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้ฝรั่งเศสได้กลับมาครองลาวอีกครั้ง จนถึงสงครามเดียนเบียนฟู พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้เวียดนามจึงหมดอำนาจในลาวไปอย่างเด็ดขาด เมื่อลาวได้เอกราชกลับถูกสหรัฐอเมริกาแทรกแซงทางการเมืองและการทหาร แต่กลุ่มลาวรักชาติได้ร่วมกันต่อสู้อย่างแข็งขันจนสหรัฐอเมริกาล่าถอยไป ลาวเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ยกเลิกสถาปันเจ้าชีวิต(กษัตริย์) เจ้าชีวิตองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรจำปาสักคือเจ้าบุญอุ้ม
จำปาสักเป็นแขวงที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลาง พลเมืองประกอบด้วยชาวลาวลุ่ม ชาวภูไท และชาวเขาเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ตามที่ราบสูง โดยเฉพาะบริเวณที่ราบสูงบอละเวน
ที่ราบสูงบอละเวน
หรือที่ชาวลาวเรียกกันว่า พูเพียงบอละเวน เป็นที่ราบสูงทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของแขวงจำปาสัก สาละวัน เซกอง และอัตตะปือ เป็นถิ่นที่มีชาวละเวนอาศัยอยู่มากที่สุดจนเป็นที่มาของชื่อสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสนำกาแฟ ยางพารา และกล้วยเข้ามาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ พอฝรั่งเศสหมดอำนาจเกิดสงครามเปลี่ยนแปลงการปกครองเรือกสวนถูกทิ้งร้างทรุดโทรม ต่อมาได้รับการฟื้นฟูจนกลายเป็นแหล่งกสิกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ผลิตผลที่ขึ้นชื่อคือกาแฟพันธุ์ดี เช่น อาราบิก้า โรบัสต้า
ปากเซ (Pakse) เป็นเมืองหลวงของแขวง เป็นเมืองที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2448 เพื่อคานอำนาจกับเมืองจำปาสัก(บ้านวัดทุ่ง) ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่แม่น้ำโขงกับแม่น้ำโดนไหลมาบรรจบกัน ห่างจากชายแดนไทยที่ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี 42 กิโลเมตร
จำปาสัก (Champasak) อยู่ห่างจากปากเซ 30 กิโลเมตร อดีตคือศูนย์กลางการปกครองของแขวง และเป็นที่ประทับของราชวงศ์สายจำปาสัก เมื่อฝรั่งเศสตั้งปากเซเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ จำปาสักกลายเป็นเมืองเล็กที่เงียบสงบ ถนนหนทางในเมืองส่วนใหญ่เป็นลูกรัง ร่มรื่นด้วยทิวไม้ใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองมีเพียง วัดทอง ซึ่งเป็นวัดประจำราชวงศ์และเป็นที่ตั้งเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระเจ้ายุทธิธรรม เจ้าราชดนัย เจ้าบุญอุ้ม และเจ้าชายเจ้าหญิงสายราชวงศ์จำปาสักอีกหลายพระองค์ ห่างตัวเมืองไปประมาณ 8 กิโลเมตร มีวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงชื่อวัดพุทธวนาราม หรือ วัดเมืองกาง เป็นวัดที่มีศิลปกรรมลาวไทย พม่า ฝรั่งเศส ที่ผสมกันอย่างกลมกลืน
สี่พันดอน (Si phan don) แม่น้ำโขงช่วงใกล้เขตแดนกัมพูชามีขนาดกว้าง 10-12 กิโลเมตร กลางลำน้ำเต็มไปด้วยเกาะแก่งหินขนาดต่างๆ ถึง 4,000 เกาะ เป็นที่มาของชื่อสี่พันดอน คำว่าดอนในภาษาลาวหมายถึง เนินดินที่ผุดขึ้นในแม่น้ำและมีน้ำล้อมรอบ ในจำนวนสี่พันดอนนี้ ดอนที่ใหญ่ที่สุดคือดอนโขง
ดอนโขงหรือเมืองโขง
กว้าง 6 กิโลเมตร ยาว 12 กิโลเมตร เป็นบ้านเกิดของท่านคำไตสีพันดอน อดีตประธานประเทศลาว นับว่าเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความเจริญด้วยระบบโครงวร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า และประปาที่สมบูรณ์ มีแม่น้ำโขงล้อมรอบ มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิลล่าแบบฝรั่งเศสหลายแห่งที่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม รวมทั้งร้านอาหารริมแม่น้ำโขงที่มีอาหารสดๆ จากแม่น้ำมาบริการ จึงมีชาวต่างชาติไปพักผ่อนตากอากาศจำนวนมาก สถานที่น่าสนใจ ได้แก่ วัดพวงแก้วมีพระพุทธรูป ปูนปั้นขนาดใหญ่ วัดจอมทอง วัดเก่าแก่ที่สุดของดอนโขง สร้างในสมัยเจ้าอนุวงศ์
ดอนคอน
เป็นดอนขนาดรองลงมา กว้าง 4.5 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน มีที่พักทั้งวิลล่าเก่าสมัยอาณานิคม และเรือนฝาไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงหญ้าแบบหลังเดี่ยวและเรือนแถว ห่างจากหมู่บ้านไป 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของน้ำตก หลี่ผี
ดอนเด็ด
เป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนเหนือของดอนคอน สมัยฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีนจำเป็นต้องขนส่งสินค้าและสิ่งของต่างๆ ขึ้นไปทางตอนกลางประเทศแต่ติดขัดเกาะแก่งขนาดใหญ่ทำให้เรือสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ จึงได้สร้างท่าเรือและทางรถไฟบนดอนคอน พอเรือแล่นมาถึงบริเวณสี่พันดอนก็จอดเรือไว้ที่ดอนคอน ขนถ่ายสินค้าจากเรือไปทางรถไฟจากหัวดอนไปท้ายดอนแล้วขนสินค้าลงเรือใหม่ ทางรถไฟสายนี้ปัจจุบันยังคงมีซากหลงเหลืออยู่ให้เห็น รวมทั้งหัวรถจักรไอน้ำที่ใช้ในสมัยนั้น
จากดอนคอน หรือ ดอนเด็ด นั่งรถหรือเรือไปที่บ้านกะสัง แล้วเดินทางต่อไปประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ตั้งของน้ำตกคอนพะเพ็ง หรือ ตาดคอน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าสงได้รับสมญานามว่าไนแองการาเอเชีย เกิดจากแก่งขนาดยักษ์สูง 10 เมตรเศษ ขวางทางน้ำ
เวินคำ (Voen Kham) สุดทางหลวงหมายเลข 13 บริเวฯชนแดนระหว่างลาว-กัมพูชา เป็นที่ตั้งหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า เวินคาม มีท่าเรือข้ามฟากจากลาวไปยังสตรึงเตรง ของกัมพูชา เปิดให้ข้ามไปมาได้เฉพาะประชากรของสองประเทศ ในเวินคามมีร้านค้าหลายร้าน ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอาหาร ของชำ เสื้อผ้า และเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ |